วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หลักกฎหมายมหาชน

หลักกฎหมายมหาชน  (LAW 1001)

1. จงอธิบายความสัมพันธ์ของการควบคุมบังคับบัญชากับการกำกับดูแลว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไร      ต่อการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย


                ความสัมพันธ์ของการควบคุมบังคับบัญชา  กับการกำกับดูแลมีความเกี่ยวข้องต่อการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย ดังนี้ คือ
                การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ  ราชการส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  และส่วนท้องถิ่น
                ราชการส่วนกลาง  ประกอบด้วย  กระทรวง  ทบวง  กรม  เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการรวมอำนาจ  โดยการปกครองแบบนี้อำนาจในการตัดสินใจทั้งหลายจะอยู่ที่ส่วนกลางทั้งสิ้น  มีการรวมกำลังในการบังคับต่างๆ  ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง  และมีลำดับขั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน
                 ราชการส่วนภูมิภาค  ประกอบด้วย  จังหวัด  อำเภอ  กิ่งอำเภอ  ตำบล  หมู่บ้าน  เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการแบ่งอำนาจ  ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่ส่วนกลางมอบอำนาจตัดสินใจบางประการให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไปปฏิบัิติหน้าที่ในส่วนภูิมิภาค  โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในบังคับบัญชาของส่วนกลางตลอดเวลา
                 ราชการส่วนท้องถิ่น  ประกอบด้วย  อบจ. อบต. เทศบาล  พัทยา  และ กรุงเทพมหานคร  เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการกระจายอำนาจ  โดยรัฐจะมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์การอื่น ที่ไม่ใช่องค์กรส่วนกลาง  หรือ  ส่วนภูมิภาค  เพื่อจัดทำบริการสาธารณะบางอย่าง  โดยจะมีอิสระ ตามสมควร  ไม่ต้องขึ้นอยู่ในการบังคับบัญชาของส่วนกลาง  เพียงแต่ขึ้นอยู่ในการกำกับดูแลเท่านั้น
                 การควบคุมบังคับบัญชา  คือ  อำนาจที่หัวหน้าหน่วยงานใช้ปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  เช่นการที่รัฐมนตรี ใช้อำนาจบังคับบัญชาเหนือเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในกระทรวง  อำนาจบังคับบัญชาเป็นอำนาจที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งการใดๆ ก็ได้ตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสม  สามารถกลับ  แก้  ยกเลิก เพิกถอน  คำสั่ง หรือการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาได้เสมอ  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ  อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจบังคับบัญชานี้ต้องชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ใช่ว่าจะใช้โดยขัดต่อกฎหมายได้  ซึ่งการควบคุมบังคับบัญชานี้เป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคของไทยนั่นเอง
                 การกำกับดูแล  คือ การควบคุมที่ไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์การควบคุมกำกับ  จึงเป็นอำนาจที่มีเงื่อนไข  คือ จะใช้ได้ต่อเมื่อกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องเป็นไปตามรูปแบบที่่กฎหมายกำหนด  ใรการควบคุมกำกับนั้น  องค์กรควบคุมกำกับไม่มีอำนาจสั่งการให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติตามที่ตนเห็นสมควร  องค์กรภายใต้การควบคุมกำักับย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย  ดังนั้นองค์กรควบคุมจึงเป็นแต่ควบคุมกำกับให้องค์การภายใต้การควบคุมกำกับ ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องต้องกฎหมายเ่ท่านั้น  ซึ่งการควบคุมกำกับดูแลนี้เป็น ความสัมพันธ์ ระหว่างส่วนกลางและ ส่วนภูมิภาค กับ ส่วนท้องถิ่นของไทย นั่นเอง